ล่าสุดมติชนออนไลน์ รายงานเมื่อเวลา 19.00 น. วันนี้ (27 พ.ค.) ว่า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) กล่าวถึงกรณีนายสุธาชัยอดอาหารประท้วง ว่า ที่ผ่านมานักวิชาการรายอื่นที่วิจารณ์ ศอฉ. ก็ไม่ได้มีการควบคุมตัว แต่ ดร.สุธาชัยเป็นบุคคลที่มีหมายจับและมามอบตัวเอง การที่ไม่รับประทานอาหารก็คงทำให้หิว แต่ก็เป็นสิทธิของนายสุธาชัย ทั้งนี้ ศอฉ. ทำตามกรอบกฎหมาย แต่หากท่านไม่ทานอาหารจริง ท่านกินเจเล่ก็คงจะอิ่มอยู่แล้ว
Matichon newspaper (online) report that on 27 May, Colonel Sarnsern Kaewkamnerd, CRES Spokepersons said that Suthachai has a right to perform a hunger strike. Sarnsern also said that there are many academic scholars who also critisised CRES, however in the case of Suthachai, there is an arrest warrant for him and he turned himself in. Sansern comments that not eating any food would probably make Dr. Suthachai hungry, but it's his rights to do so. CRES is performing within legal frame. And if he's not eating any food , eating Jelly should make him full.
Mark Mackinnon ผู้สื่อข่าวจากหนังสือพิมพ์แคนาดา The Globe and Mail ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์การต้องเดินทางเข้าออกวัดปทุมฯ เพื่อรายงานข่าวในช่วงที่มีการปราบปรามผู้ชุมนุมของรัฐบาล
Q: ผมเข้าใจว่าคุณคงได้เล่าเรื่องนี้ซ้ำหลายรอบแล้ว แต่ผมก็คงจะต้องขอถามอีกหนหนึ่งว่า วันนั้นเกิดอะไรขึ้นบ้างครับ
A: เรื่องเวลานี่ผมไม่แน่ใจเท่าไรนัก คุณสามารถไปดูได้จากทวิตเตอร์ของผมได้นะ น่าจะแม่นยำกว่าความจำของผม เริ่มด้วยผมกับแอนดรูว์ (แอนดรูว์ บันคอมบ์ / Andrew Buncombe) นักข่าวชาวอังกฤษจากหนังสือพิมพ์ The Independent เดินไปตามถนนอังรีดูนังต์เพื่อเข้าไปในพื้นที่ชุมนุม เป็นเวลาประมาณเที่ยง ๆ ได้ที่พวกเราไปถึงบริเวณเวที แล้วก็เดินต่อไปจนถึง FCCT ซึ่งกลายเป็นประเด็นสำคัญขึ้นมาเพราะว่าจากบน FCCT นั้น เราสามารถเห็นภาพการปะทะด้านล่าง และเรายังเห็นระเบิดตามจุดต่าง ๆ จากนั้นเราก็ได้ SMS ซึ่งไม่แน่ใจว่าจาก ศอฉ. หรือเนชั่น หรือว่าเว็บ ThaiVisa.com บอกว่าทหารกำลังพักการปฏิบัติการ แอนดรูว์กับผมเลยคิดว่าน่าจะปลอดภัยที่จะลงไปดูเหตุการณ์ข้างล่างและที่วัดปทุมฯ
เราเดินลงไปที่แยกราชประสงค์ ซึ่งแทบไม่เหลือใครแล้ว เห็นแต่ผู้หญิงคนหนึ่งถือธงอยู่ แล้วเราก็เดินไปถึงวัดประมาณบ่ายโมงหรือบ่ายสองโมง ตอนนั้นน่าจะมีคนอยู่ประมาณ 1,500 คน โดยหลังจากนั้นข่าวก็ออกว่ามีอยู่ 3,000 คน ซึ่งก็เป็นไปได้เพราะผมก็ไม่ได้เดินดูอย่างละเอียด ในวัดนั่นเราก็สัมภาษณ์ผู้คนว่ามา ถึงวัดได้อย่างไร เมื่อเช้าเป็นอย่างไรบ้าง อยู่ในวัดรู้สึกปลอดภัยหรือไม่ ซึ่งบางคนก็ยังรู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนเชื่อว่าจะไม่มีใครโจมตีเข้ามาในวัด บางคนคิดว่าทหารนั้นเชื่อไม่ได้ พอประมาณห้าโมงเย็น เนื่องจากเคอร์ฟิวและเราต้องการหาที่ที่ปลอดภัยไว้เขียนข่าว เราก็เดินออกมาที่ถนนไปตามถนนพระราม 1 กลับไปราชประสงค์ แล้วตอนนั้นเราก็คิดว่าต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของคนที่อยู่ในวัดไว้บ้าง เผื่อว่าถ้าสถานการณ์อันตรายมากขึ้นจะได้โทรไปถามข่าวคราวได้
เราเลยเดินกลับมาที่วัด เมื่อถามได้หมายเลขโทรศัพท์บ้างแล้วก็เดินกลับมาด้านหน้า ตอนนั้นเองที่ผมเห็นด้วยตาตนเองว่าที่นอกกำแพงวัดมีคนยิงดอกไม้ไฟสองลูกไป ทางราชประสงค์ ซึ่งเวลานั้นเอง เพื่อนของผม นิค เพทัน วอลช์ (Nick Paton Walsh) จาก Channel 4 อยู่ที่ราชประสงค์ เขาบอกว่ามีทหารอยู่แถวนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือมีการยิงเข้ามาอย่างหนักที่บริเวณด้านหน้าของวัด ระหว่างโบสถ์กับประตูหน้า เราหมอบอยู่หลังรถกระบะสีน้ำเงินคันหนึ่ง กระสุนส่วนมากดูเหมือนจะมาจากด้านบน อาจจะเป็นจากรถไฟฟ้าหรือว่าอาคาร ผมก็ได้แค่เดา ภาพนี้คล้ายกับที่ผมคิดไว้ [ชี้ภาพทหารบนรางรถไฟฟ้า จาก นสพ. ข่าวสด ฉบับวันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2553] คือผมไม่รู้แน่ชัดว่ามันมาจากข้างบนเพราะมันเริ่มมืดแล้ว แต่ความรู้สึกคือมันมาจากด้านบน และผมทำงานในพื้นที่สงครามมาหลายแห่ง ผมฟังความแตกต่างได้ระหว่างเสียงกระสุนกระทบวัตถุกับเสียงกระสุนวิ่งผ่านไป และตอนนั้นมันเป็นเสียงกระสุนวิ่ง
เราหมอบหลบอยู่หลังรถกระบะสักพักหนึ่ง แล้วก็เริ่มมีการยิงใกล้เข้ามามากจนได้ยินเสียงมันยิงโดนบริเวณรอบ ๆ ตอนนั้นผมกับคนจำนวนมากรอบ ๆ ก็รีบวิ่งไปยังด้านหลังของวัด แต่แอนดรูว์ไม่ได้วิ่งไป เขาคิดว่าหมอบหลบตรงนั้นจะปลอดภัยกว่า คุณสามารถไปตามอ่านที่แอนดรูว์เล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขาได้ แต่สิ่งที่เขาบอกผมก็คือหลังจากหลบอยู่ตรงนั้นสักครู่ เขาก็เห็นผู้ชายคนหนึ่งวิ่งมาตามถนนพระราม 1 แล้วโดนยิงเข้าที่หลัง เขาพยายามเข้าไปถ่ายรูปแล้วก็โดนยิงเข้าที่ขา
หลังจากนั้น ผมและร็อบ ดอนเนลลัน (Rob Donnellan ล่าม) ก็วิ่งไปที่กุฏิ ตอนที่อยู่ในนั้นเองที่แอนดรูว์โทรมาบอกว่าเขาถูกยิง เราจึงกลับไปที่ด้านหน้า พยายามเข้าไปถึงตัวแอนดรูว์แต่ทำไม่ได้ แต่ก็มีกลุ่มหน่วยกู้ชีพที่นำตัวแอนดรูว์และคนอื่น ๆ ที่ได้รับบาดเจ็บมาที่ด้านหลังซึ่งมีสถานพยาบาลแบบชั่วคราวอยู่ เราถามพวกเขาถึงจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และได้รับคำตอบว่ามีผู้เสียชีวิต 7 รายและบาดเจ็บ 10 คน หลังจากนั้นผมก็เห็นผู้เสียชีวิตอีกรายตรงหน้า จึงคิดว่าจำนวนทั้งหมดคือ 8 ราย แต่จำนวนในข่าวคือ 6 ราย ผมมีภาพหนึ่งที่ร็อบถ่ายได้ที่ดูเหมือนมีศพ 7 ศพ ทั้ง ๆ ที่น่าจะมีแค่ 6 แต่อาจจะเป็นเรื่องของรูปทรงของผ้าที่ห่อไว้ทำให้ไม่แน่ใจนัก
ตอนนั้นก็มืดแล้ว ประมาณหนึ่งทุ่มหรือสองทุ่ม ผมพยายามโทรศัพท์หากองบรรณาธิการ สถานทูต ผมโทรไปเล่าเหตุการณ์ให้ภรรยาฟัง ซึ่งเธอก็ติดต่อสภากาชาดสากล ผมพยายามโทรหาทุกคน แต่ก็ต้องอยู่ในนั้นอีกราว 3 ชั่วโมงกับผู้คนที่หวาดกลัวมากกับเสียงกระสุนปืนและระเบิดและรอคอยให้เกิดอะไรบางอย่าง จนในที่สุดก็มีหน่วยกาชาดหรือใครก็ไม่ทราบที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัว คือทุกคนอยากได้รับการกล่าวถึงยกเว้นคนที่มาช่วยจริง ๆ ทั้งรัฐบาล สถานทูต และหนังสือพิมพ์ผม แต่คนที่มาช่วยจริง ๆ ไม่ต้องการถูกกล่าวถึง เขาโทรศัพท์มาหาผมแล้วบอกว่าจะส่งรถพยาบาลมาที่หน้าประตูและพวกเราต้องพาคนออกไป ตอนนั้นทุกคนในวัดรู้สึกกลัวว่ามันจะเป็นกับดัก ผมจึงเดินออกไปพร้อมกับยกมือ บอกรถพยาบาลว่าผมจะกลับมาอีกรอบ และผมก็แบกเปลพยาบาลเปลแรกไปที่รถด้วยตัวเอง แล้วก็ต้องช่วยแบกเปลทุกอัน มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่กล้าหาญมาก เขาตัวใหญ่ ใส่เสื้อสีขาวมีสัญลักษณ์กาชาด ทำให้เขาไม่รู้สึกว่าเป็นอันตรายเท่าไร
พอขนผู้บาดเจ็บไปหมดแล้ว ผมเห็นว่าเหลือรถพยาบาลว่างอยู่หนึ่งคันก็เลยถามเจ้าหน้าที่ว่าผมกลับไปพาเด็กมาขึ้นรถออกไปได้ไหม เขาตอบว่าไม่ได้ เพราะจะผิดข้อตกลงเรื่องหยุดยิง ซึ่งให้นำแค่เปลและคนบาดเจ็บออกไปเท่านั้น ผมเถียงกับเขาแต่เขาก็บอกว่าไม่ และจะนำรถออกไปแล้ว ผมจึงกลับไปบอกคนในวัดว่าพวกเจ้าหน้าที่สัญญาว่าจะกลับมารับเด็กและผู้หญิงในตอนเช้าถ้ายังมีการต่อสู้กันอยู่ คือให้ร็อบช่วยแปลให้ แต่ผู้คนฟังแล้วก็ไม่ค่อยดีใจเท่าไรนัก จากนั้นเราก็แบกแอนดรูว์ออกไปเป็นคนสุดท้าย ซึ่งรถพยาบาลคันนั้นก็เกือบขับออกไปแล้วแต่พวกเราก็ขึ้นไป จริง ๆ ผมควรอยู่ที่นั่นต่อในคืนนั้นและผมก็รู้สึกแย่ที่ไม่ได้อยู่ แต่ผมก็ต้องออกมาเขียนข่าว
ผมไม่รู้ว่าคันอื่นขับไปที่ไหนแต่คันที่ผมนั่งนั้นมาส่งแอนดรูว์กับชายอีกหนึ่งคนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เขาทำการผ่าตัดให้แอนดรูว์ในคืนนั้นเลยและผ่าตัดอีกครั้งในวันศุกร์เพราะยังเหลือเศษกระสุนอยู่ ซึ่งตอนนี้ก็ยังเหลืออยู่นิดหน่อย เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์มาที่โรงพยาบาลและตรวจดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เจ้าหน้าที่บอกเราว่ามันดูเหมือนแผลจากกระสุนความเร็วสูงกระทบใกล้ ๆ เขาและแตกกระจายออก ทำให้มีรอยแผล 6 รอย และมีเศษทองแดงกับเศษตะกั่วอยู่ข้างในแผล หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็พยายามบอกว่ามันอาจจะเป็นแผลจากระเบิด ซึ่งไม่ได้น่าเชื่อถือเท่าไรนักเพราะพวกเขามีหลักฐานอยู่แล้ว ทำไมจะระบุไม่ได้
Q: คุณรู้สึกอย่างไรบ้างที่เป็นหนึ่งในนักข่าวไม่กี่คนที่ติดอยู่ในเหตุการณ์นั้น
A: ผมประหลาดใจเล็กน้อย คือนึกว่าใคร ๆ ก็จะไปที่นั่นเสียอีก แต่ที่นั่นมันน่ากลัวผมเลยเข้าใจว่าทำไมคนถึงออกไปจากที่นั่น ผมรู้สึกว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แย่มาก ผมคิดว่าถ้ามีการช่วยเหลือมากกว่านั้น สถานการณ์คงจะจบลงดีขึ้นกว่าที่เห็น เพราะว่ามีการหยุดยิง ความรุนแรงจึงหยุดลง ผมเคยทำงานในมาเลเซีย 4 ปี เคยไปที่อิรัก ฉนวนกาซ่า เลบานอน แต่คืนนั้นเป็นคืนหนึ่งที่น่ากลัวที่สุดในชีวิตของผม
Q: ในฐานะสื่อมวลชนในเหตุการณ์นี้ คุณพบความลำบากหรืออุปสรรคอะไรบ้าง
A: ผมไม่ค่อยมีปัญหากับการรายงานข่าวจากสถานที่อันตราย ผมคิดว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดอย่างหนึ่งก็คือประเด็นบางอย่างที่คุณไม่สามารถพูดได้อย่างอิสระ หรือผู้คนกลัวที่จะพูดถึง แล้วก็เรื่องสื่อไทย คือเวลาคุณไปที่ไหนคุณก็จะต้องอาศัยสื่อท้องถิ่นในการรับข้อมูลข่าวสาร แล้วสื่อไทยดูเหมือนจะแบ่งพรรคแบ่งพวกกันอย่างมาก แล้วก็เล่าเรื่องด้านเดียว เหตุการณ์เลยกลายเป็นว่าสื่อต่างประเทศมีความเป็นกลางและน่าเชื่อถือมากกว่า และในขณะเดียวกันสื่อใหม่ก็มีบทบาทมากขึ้นอย่างมาก เช่นคนก็จะละทิ้งช่องทางปกติมาหาข้อมูลในทวิตเตอร์และเฟซบุคแทน น่าประทับใจทีเดียว
รัฐบาลก็ตั้งข้อสงสัยกับพวกเราบ้างอย่างมีเหตุผล พวกเขาให้เราเข้าถึงถ้าเราขอ ทหารก็เป็นมิตรดี กลุ่มคนเสื้อแดงก็เป็นมิตรดี ทุกคนดูเหมือนจะเข้าใจว่านักข่าวต่างชาติไปอยู่ที่นั่นทำไม ดังนั้นเรื่องที่มีเพื่อนของผมถูกยิงเสียชีวิตก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องหาความจริงต่อไปว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
สิ่งที่แปลกที่สุดสำหรับผมก็คือความเข้มงวดในการพูดถึงเรื่องบางเรื่อง และเรื่องที่การหลบในที่หลบภัยที่เป็นกลางนั้นไม่ได้ช่วยป้องกันอะไร